การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้ง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

หลังผลการเลือกตั้งออก สื่อมวลชนได้ประนามว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”[5]

ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง จากนั้นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยการศึกษา และ วิทยาลัยเทคนิค รวมทั้งประชาชนได้รวมตัวกันประท้วงการเลือกตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีข่าวเตรียมเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนทางหนังสือพิมพ์

ภายหลังเหตุการณ์รัฐบาลจึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีใจความสำคัญว่า "มีคณะบุคคลจากการสนับสนุนของชาวต่างชาติจะก่อกวนให้เกิดความไม่สงบเพื่อจะฉวยโอกาสยึดครองประเทศ จึงขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ" หลังจากนั้นก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารรับผิดชอบจัดการรักษาความสงบ[6] ด้วยทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลนั้นต้องการป้องกันการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาและประชาชน

แต่การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังดำเนินต่อได้กลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาให้นักศึกษาดำเนินการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้นจริงจังขึ้นมาอีก จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางมาที่จุฬาลงกรณ์เพื่อกล่าวปราศรัยและรับทราบความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชน ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตจอมพลสฤษดิ์เดินขบวนประท้วง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้อนุญาต จึงทำให้จอมพลสฤษดิ์เริ่มได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ความนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอก เผ่า ถูกลดความนิยมลง

โดยในเวลา 15.00 นาฬิกา ในวันเดียวกันนั้นคลื่นมหาชนที่ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เดินขบวนเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอพบพระยารามราชภักดีในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ปลัดกระทรวงมอบหมายหลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมมหาดไทยออกมาชี้แจงแทน ซึ่งกลุ่มผู้เดินขบวนได้ยื่นข้อเรียกร้องรวม 6 ข้อ โดยมีจุดประสงค์สำคัญให้รัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะและให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยขอให้รัฐบาลให้คำตอบภายในวันเดียวกัน ต่อมาจึงเดินขบวนต่อไปที่ท้องสนามหลวงและเปิดไฮด์ปาร์คโจมตีรัฐบาล[7]

จนในเวลา 17.30 นาฬิกา ก็เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญเพื่อไปเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรีเมื่อขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางก็มีประชาชนมาสมทบจนขบวนใหญ่ขึ้นทุกที โดยมีทหารเตรียมสกัดอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไม่ให้ประชาชนผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่ทหารและประชาชนประจันหน้ากันอยู่อย่างตึงเครียดนั้น สุดท้ายฝ่ายทหารก็ยอมเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยฝูงชนได้พังประตูทำเนียบเข้าไป และได้พบรัฐบาลหลายคนรวมทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็อยู่ในที่นั้นด้วย ผู้เดินขบวนได้เรียกร้องโดยตรงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ชี้แจงถึงการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเมื่อจอมพล ป. พูดไม่ยอมรับปากจะจัดการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ประชาชนจึงเกิดไม่พอใจและได้โห่จอมพล ป.และขอให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนซึ่งเมื่อไม่สามารถทัดทานเสียงเรียกร้องของประชาชนได้ จอมพล ป.จึงยอมให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนโดยขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสงบ ส่วนปัญหาที่ทางผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้นจอมพลสฤษดิ์รับปากว่าจะขอรับไปนำเสนอเพื่อแก้ไขในคณะรัฐบาลภายหลัง ประชาชนจึงพอใจและสลายการชุมนุมและเหตุการณ์ก็คืนสู่ภาวะปกติ จนรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2500

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539